ความเป็นมาของธรรมศึกษาชั้นตรี

ความเป็นมาที่น่าสนใจ ของธรรมศึกษาชั้นตรี ที่หลายคนอาจจะเคยได้ยิน แต่ยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่าคืออะไร สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย (การศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณนิยมศึกษาเป็นภาษาบาลี) เพื่อให้ภิกษุ สามเณร ที่ได้รับการบวชเข้ามาใหม่ ผู้ที่ถือว่าจะเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาในช่วงเวลาในปัจจุบันนั้น ๆ สามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวก และทั่วถึง ซึ่งจะได้เป็นการนำเอาพื้นฐานเหล่านี้ นำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างออกไป

ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพิจารณา และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่แท้จริงขึ้นมาว่า การเรียน การสอน และได้เข้ารับการศึกษานักธรรมนั้น มิได้เป็นเพียงการได้ประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเพียงเท่านั้น เพราะแม้กระทั่งผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัย ถ้าหากได้ศึกษา และเข้าถึงการเรียนการสอนที่ถูกต้อง ก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย และยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนที่น่าจะได้ประโยชน์ และนำเอาไปต่อยอดได้ดีที่สุด นั่นก็คือเหล่าข้าราชการครู จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า ธรรมศึกษา ซึ่งจะมีครบทั้ง ๓ ชั้น ก็คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีลเบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน โดยที่หลักสูตรการศึกษาธรรมศึกษาได้ที่เปิดสอนขึ้นมาให้นั้น เปิดสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และเปิดสอนครบทุกชั้นในเวลาต่อมา โดยที่ในช่วงเวลานั้น ถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีฆราวาสทั้งหญิง และชาย เดินทางเข้ามาสอบกันเป็นจำนวนมาก นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ถือว่าเป็นอีกช่วงเวลาที่มาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้บุคคลธรรมดาทั่วไปเข้าถึงหลักคำสอนได้ง่ายขึ้น เพราะในตอนนั้นสนามหลวงแผนกธรรมได้ปรับเนื้อหาหลักสูตรธรรมศึกษาให้น้อยลง ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพราะผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีหลักสูตรที่ต้องเรียนต้องศึกษาในสถาบันการศึกษาอยู่แล้วเป็นปกติ และถ้าหากปล่อยให้มีการเรียนธรรมศึกษา ที่ถือว่าเป็นบทเรียนที่มีเนื้อหาวิชาที่มากจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสีย และเป็นภาระที่หนักจนเกินกว่าที่จะทำให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้เรียน สำหรับธรรมศึกษาชั้นตรีนี้ เนื้อหาวิชาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้เป็นเนื้อหาวิชาที่ได้ปรับลดแล้วจากหลักสูตรเดิม

วัตถุประสงค์ของการเรียนธรรมศึกษา

๑. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดศรัทธาและสำนึกในความสำคัญของพระพุทธศาสนา

๒. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย

๓. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและหลักธรรมอย่างถูกต้อง

๔. เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

๕. เพื่อให้ผู้เรียนรู้หน้าที่ของชาวพุทธและสามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

วิธีการศึกษาธรรมศึกษา

๑. ศึกษาเนื้อหาไปตามลำดับ และทำแบบทดสอบในแต่ละตอน เสร็จแล้วตรวจคำตอบจากเฉลยท้ายบทเรียน

๒. ฟังการบรรยาย– สอบถาม พระอาจารย์ หรือท่านผู้รู้

๓. ค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การประเมินผล

๑. ทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน

๒. เข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน (กรณีที่มีการเรียนการสอน)

๓. สังเกตจากพฤติกรรม  ตลอดถึงทัศนคติของผู้เรียน

๔. เข้าสอบธรรมสนามหลวง

๕. ผู้เรียนนำหลักธรรมคำสอนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน